วันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2561

กฤษฏา จ่อเปิดเวที4ภาคถกใช้3สารเคมีก่อนออกกฎคุม

     
      
       เมื่อวันที่ 6 ก.ย.นายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าหลังจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติจำกัดการใช้สารเคมีวัตถุอันตราย กำจัดศัตรูพืช 3 สาร พาราควอต คอร์ไพริฟอส ไกลโฟเซต โดยให้กรมวิชาการเกษตร เสนอวิธีจำกัดการใช้ควบคุมการนำเข้า โดยตนได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตร ไปทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายทั้งเกษตรกรและเอ็นจีโอ ทั้ง4 ภาคของประเทศ ซึ่งการเปิดเวทีต้องทำโดยเปิดเผยและเปิดรับทุกกลุ่มเข้ามาเพื่อให้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางมากที่สุด ไม่ให้เหมือนที่ผ่านมาที่ทำเพียงในเว็ปไซส์เท่านั้น

 รมว.เกษตรฯกล่าวว่าเมื่อได้ข้อสรุปจากทุกเวที และนำมาออกระเบียบข้อจำกัดต่างๆ จะนำมาให้รมว.เกษตรฯออกประกาศระเบียบการใช้สารเคมี 3 ชนิดนี้ ทั้งลดโควต้านำเข้า วิธีใช้การอบรมเกษตรกร ก่อนออกใบอนุญาตให้ซื้อได้  ในปลายเดือนนี้ จะเริ่มเวที ครั้งนี้ไปพบกับทุกฝ่ายและเป็นการเปิดมติใหม่ในการรับฟัง ทั้งนี้จะนำร่างออกระเบียบประกาศกระทรวงว่าด้วยในสาระการใช้เคมีภัณฑ์ ในเบื้องต้นไปเปิดเผยให้ทุกกลุ่มทราบก่อนด้วย

ที่มา : dailynews

ชาวจีนระทึก พบผลึกสีขาวรอบพื้นที่ระเบิดในเทียนจินที่โดนน้ำแล้วไฟลุก!


   จากเหตุระเบิดครั้งใหญ่ในเทียนจินจนเป็นข่าวไปทั่วโลก ดูเหมือนว่าชาวจีนต้องผวากันอีกครั้งเมื่อยังมีผลึกสีขาวตกอยู่รอบๆ บริเวณที่เกิดระเบิด ที่สำคัญมันเป็นสารเคมีที่เมื่อโดนน้ำแล้วจะเกิดปฏิกิริยาเผาไหม้อีกด้วย
     ประเด็นสารเคมีที่ทำปฏิกิริยาต่อน้ำนี้กลายเป็นประเด็นสำคัญที่สื่อหลายสำนักกำลังตั้งข้อสงสัยถึงเหตุระเบิดครั้งใหญ่ที่ผ่านมาว่าการระเบิดครั้งต่อๆ มาที่รุนแรงขึ้น เกิดจากนักดับเพลิงฉีดน้ำลงบนโกดังที่บรรจุสารเหล่านี้หรือไม่
      ซึ่งรายงานข่าวจาก BBC ระบุว่าในโกดังที่ระเบิดในเทียนจินนั้นมีสารเคมีไวไฟอยู่หลายชนิด โดยเฉพาะแคลเซียมคาร์ไบด์ที่เมื่อโดนน้ำจะกลายเป็นก๊าซอะเซทิลีนซึ่งเป็นก๊าซที่ระเบิดได้ง่าย แต่จีนก็ยืนยันว่าทีมดับเพลิงเข้าใจสถานการณ์ดีว่ามีสารที่ทำปฏิกิริยากับน้ำด้วย เพียงแต่ไม่มีใครรู้ว่ามันอยู่ที่ไหนในโกดัง และเมื่อทีมดับเพลิงเข้าถึงจุดเกิดเหตุก็เป็นช่วงหลังจากเหตุระเบิดแล้ว
      แต่อย่างไรก็ตาม Shanghaiist ก็รายงานว่าจีนกำลังเซนเซอร์ข้อความในโซเซียลเน็ตเวิร์คที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนี้อย่างหนัก โดยเฉพาะข้อความที่อ้างว่ามาจากสมาชิกของทีมดับเพลิงที่เข้าไปในที่เกิดเหตุ ที่บอกว่าไม่มีใครบอกทีมเลยว่าสารเคมีที่อยู่ในโรงงานนั้นทำปฏิกิริยากับน้ำ ซึ่งก็มีคนรีทวีตไปกว่า 10,000 ครั้งก่อนที่จะโดนรัฐจัดการ นอกจากนี้ในเช้าวันรุ่งขึ้นสถานีโทรทัศน์ของเทียนจินกลับฉายละครเกาหลีแทนที่จะรายงานข่าวที่เกิดขึ้น ราวกับว่าสถานีกำลังรอรัฐบาลอนุมัติเรื่องราวที่จะรายงาน

วันเสาร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2561

ข้อควรรู้ก่อนทาลิปสติก อันตรายแฝงจากสารเคมีที่พร้อมส่งผลเสียต่อสุขภาพ



      ในยุคนี้เราจะเห็นว่ามีลิปสติกสีสันสดใสผลิตออกมามากขึ้น ยิ่งสีสดแค่ไหน ก็ยิ่งได้รับความนิยมมากขึ้นเท่านั้น แถมบางยี่ห้อยังเคลมอีกด้วยว่าเป็นลิปสติกที่สามารถติดทนอยู่กับริมฝีปากได้นานตลอดวันไม่มีหลุดในการทาเพียงแค่ครั้งเดียว หารู้ไม่ว่ามันเต็มไปด้วยสารเคมีที่ไม่ควรสัมผัสถูกผิวหนัง ไม่ว่าจะเป็น สารกันบูดที่มักผสมอยู่ในเครื่องสำอางทั่วๆ ไป, พาราเบน, เมธอะคริเลท, สารตะกั่วปนเปื้อน และไตรโครซาน ฯลฯสารเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบฮอร์โมน เข้าไปรบกวนการทำงานของสมอง กล้ามเนื้อ และอัตราการเต้นของหัวใจ นอกจากนี้จากผลการวิจัยยังแสดงให้เห็นถึงความน่าวิตกว่าสารเคมีมากมายจากลิปสติกที่เข้าไปสะสมในร่างกาย จะเป็นตัวการทำให้เชื้อโรคดื้อยาปฏิชีวนะตามมา ส่งผลให้การรักษาอาการยุ่งยากและรุนแรงมากขึ้น
เมธอะคริเลท ส่วนผสมต้องห้ามในลิปสติก
      เมธอะคริเลทเป็นสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติก แต่มันกลับถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมของลิปสติกที่มีสีฉูดฉาด ทำให้สีหลุดลอกได้ยาก สารชนิดนี้เมื่อร่างกายได้รับเข้าไปแล้ว จะส่งผลให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนัง ในระยะแรกจะแสดงอาการมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความถี่ในการทาของสาวๆ แต่ละคน ทั้งนี้อาการระคายเคืองที่เกิดขึ้นสามารถพัฒนากลายเป็นโรคภูมิแพ้ตัวเองที่เรารู้จักกันว่าโรค SLE ได้อีกด้วย เป็นตัวการส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายแปรปรวน ไวต่อสิ่งแปลกปลอมมากเกินปกติ เกิดภาวะอักเสบตามผิวหนัง หากไม่รีบทำการรักษาจะยิ่งลุกลามไปยังส่วนอื่นๆ ของอวัยวะได้
ที่มา : sanook

แยกโมเลกุลน้ำสองชนิดออกจากกันสำเร็จครั้งแรกของโลก


     น้ำที่เราใช้ดื่มและชำระล้างสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งน้ำที่มีอยู่ทั้งหมดในจักรวาล ประกอบด้วยโมเลกุล H2O สองชนิดปะปนกันอยู่ ซึ่งล่าสุดนักวิทยาศาสตร์จากสวิตเซอร์แลนด์สามารถแยกโมเลกุลที่แตกต่างกันนี้ออกมา จนทำให้เกิดเป็นน้ำในสองรูปแบบได้เป็นครั้งแรกของโลก
     มีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยดังกล่าวในวารสาร Nature Communications โดยศาสตราจารย์ สเตฟาน วิลลิตช์ และคณะจากมหาวิทยาลัยบาเซิลของสวิตเซอร์แลนด์ระบุว่า ได้ใช้สนามไฟฟ้าสถิตแยกโมเลกุลน้ำทั้งสองแบบออกจากกันได้สำเร็จ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ถือว่าเป็นกระบวนการที่ทำได้ยากมาก
     โมเลกุลของน้ำประกอบด้วยคู่อะตอมไฮโดรเจนและอะตอมออกซิเจนอีกหนึ่งตัวตามสูตรเคมีเอชทูโอ (H2O) แต่โมเลกุลน้ำต่างชนิดกันจะมีลักษณะการหมุนที่ไม่เหมือนกัน โดยเป็นผลมาจากคุณสมบัติทางเคมีควอนตัมของน้ำ ที่อนุภาคในนิวเคลียสของคู่อะตอมไฮโดรเจนมี "สปิน" (Spin) หรือการเคลื่อนที่เชิงมุมในทิศทางที่แตกต่างกัน
     น้ำที่ประกอบด้วยโมเลกุลซึ่งคู่อะตอมไฮโดรเจนซึ่งมีสปินไปในทิศทางเดียวกัน เรียกว่า Ortho-water ส่วนน้ำที่ได้จากโมเลกุลซึ่งอะตอมไฮโดรเจนแต่ละตัวมีสปินไปในทิศทางตรงข้ามกัน เรียกว่า Para-water
     น้ำทั้งสองชนิดนี้มีคุณสมบัติโดยทั่วไปเหมือนกัน แต่มีคุณสมบัติทางเคมีแตกต่างกัน โดยจากการทดลองให้ทำปฏิกิริยากับสาร Diazenylium ซึ่งเป็นไนโตรเจนรูปแบบหนึ่ง พบว่า Para-water มีความไวต่อการทำปฏิกิริยาเคมีมากกว่าถึง 25%
     อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์สามารถแยกโมเลกุลน้ำทั้งสองชนิดออกจากกันได้ในสภาพแวดล้อมของห้องปฏิบัติการเท่านั้น เนื่องจากโมเลกุลน้ำทั้งสองประเภทจะกลับมารวมตัวกันตามปกติที่อุณหภูมิห้อง
     แม้การค้นพบนี้จะไม่นำไปสู่การผลิตน้ำดื่มน้ำใช้ชนิดใหม่สำหรับมนุษย์ แต่ ศ. วิลลิตช์ ผู้นำคณะวิจัยบอกว่า การแยกโมเลกุลน้ำสองชนิดออกจากกันคือความก้าวหน้าครั้งสำคัญด้านวิทยาการเคมีควอนตัม "ยิ่งเราควบคุมสถานะของโมเลกุลขณะเกิดปฏิกิริยาเคมีได้ดีมากขึ้นเท่าใด ก็จะยิ่งมีความเข้าใจและสามารถตรวจสอบถึงกลไกและพลวัตรซึ่งเป็นที่มาของปฏิกิริยาเคมีที่ศึกษาได้ดียิ่งขึ้นเท่านั้น"
ที่มา : BBC

ต่างประเทศ สารเคมีรั่วจากโรงงานในจีน ควันสีแดงพวยพุ่งปกคลุมทั่วฟ้า




        สารโบรมีนเกิดรั่วไหลจากโรงงานแห่งหนึ่งในจีน ทำให้เกิดกลุ่มควันสีแดงพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าปกคลุมทั่วบริเวณ สาเหตุถังเก็บเอียงทำให้สารละลายไหลออกมา
        วันนี้ (11 พ.ค. 61) China Xinhua News เผยคลิปวิดีโอขณะสารโบรมีน (Bromine) รั่วไหลจากโรงงานแห่งหนึ่ง ในเมืองโซ่วกวง มณฑลซานตง ประเทศจีน ส่งผลให้มีกลุ่มควันสีแดงพวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าเป็นจำนวนมาก ตามรายงานระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากถังเก็บสารโบรมีนเกิดเอียง ทำให้สารละลายด้านในรั่วไหลออกมา จนเกิดกลุ่มควันปกคลุมเหนือโรงงานลักษณะสีแดงฉานตามปรากฏในคลิป สำหรับสารโบรมีนเป็นสารเคมีซึ่งมีสถานะเป็นของเหลวสีแดง ระเหยง่ายที่อุณหภูมิห้อง มีความไวต่อปฏิกิริยาเคมี และมีกลิ่นเหม็นตามชื่อเรียกในภาษากรีก (Bromos) โดยสารเคมีชนิดนี้เป็นอันตรายเพราะก่อให้เกิดการระคายเคืองเนื้อเยื่อมนุษย์ เช่น ไอระเหยจะทำให้เกิดอาการแสบตา หลอดลมและเยื่อจมูกอักเสบ หากสัมผัสจะเกิดอาการคัน โบรมีนจะถูกใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง ยอมและฟอกสี พลาสติก เภสัชภัณฑ์ เป็นต้น    
        ก่อนหน้านี้ (11 เม.ย. 61) ได้เกิดเหตุสารเคมีรั่วไหลในลักษณะข้างต้นเช่นกันที่เมืองซานเหมินเสีย มณฑลเหอหนาน โดยครั้งนั้นเป็นกรดไนตริก (Nitric acid) หรือกรดดินประสิว ซึ่งมีปริมาณหลายร้อยกิโลกรัม จนทำให้ท้องฟ้าบริเวณนั้นเปลี่ยนเป็นสีส้มอย่างเห็นได้ชัด โดยสารเคมีดังกล่าวออกฤทธิ์เป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อมนุษย์เช่นกับโบรมีน แต่กรดไนตริกจะมีฤทธิ์กัดกร่อน หากสัมผัสอาจทำให้เกิดแผลไหม้ได้

ที่มา : workpointnews

แอลเอชซีทดลองเร่งอะตอมตัวแรกเข้าใกล้ความเร็วแสง

        องค์การเพื่อการวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรปหรือเซิร์น (CERN) แถลงว่าเครื่องชนอนุภาคขนาดใหญ่แอลเอชซี (LHC)ได้ทำการทดลองพิเศษก่อนปิดเครื่องซ่อมบำรุงประจำปี โดยได้เร่งให้อนุภาคของตะกั่วทั้งอะตอมเข้าใกล้ความเร็วแสง ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญไปสู่การผลิตรังสีแกมมาพลังงานสูงที่อาจนำไปสู่การค้นพบสสารชนิดใหม่ได้
        ตามปกติแล้วเครื่องชนอนุภาคแอลเอชซีมักทำการทดลองชนโปรตอน ซึ่งเป็นอนุภาคมูลฐานภายในนิวเคลียสของอะตอมเป็นหลัก แต่ในการทดลองพิเศษเมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ตัดสินใจทดลองเร่งความเร็วของสสารทั้งอะตอมให้เข้าใกล้ความเร็วแสงเป็นครั้งแรก โดยใช้อะตอมของตะกั่วที่มีอิเล็กตรอน 1 ตัวในการทดลองครั้งนี้
นักฟิสิกส์และวิศวกรของเซิร์นระบุว่า การทดลองดังกล่าวถือเป็นขั้นแรกในการทดสอบแนวคิด "โรงงานรังสีแกมมา" (Gamma Factory) ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคาดว่าการเร่งสสารทั้งอะตอมจะทำให้แอลเอชซีสามารถผลิตลำแสงรังสีแกมมาพลังงานสูงไว้ใช้ เพื่อค้นหาสสารชนิดใหม่ ๆ เช่นสสารที่มีมวลมาก หรือแม้แต่ผลิตสสารมืด (Dark matter) ขึ้นมาเองได้
        หากแอลเอชซีสามารถเพิ่มศักยภาพในการเป็น "โรงงานรังสีแกมมา" ได้สำเร็จ จะมีการใช้เลเซอร์ยิงอะตอมที่ถูกเร่ง เพื่อให้อิเล็กตรอนกระโดดสู่ระดับพลังงานที่สูงขึ้น เมื่ออิเล็กตรอนดังกล่าวกลับคืนสู่ภาวะปกติ จะมีการคายพลังงานในรูปของโฟตอนหรืออนุภาคของแสงที่มีพลังมหาศาลออกมา ซึ่งก็คือลำแสงรังสีแกมมาที่ต้องการนั่นเอง
        แต่อย่างไรก็ตาม การเร่งอนุภาคทั้งอะตอมนั้นทำได้ยาก เพราะโครงสร้างของอะตอมที่เปราะบางอาจทำให้อิเล็กตรอนหลุดออกไประหว่างการทดลองและส่วนนิวเคลียสชนเข้ากับผนังท่อเร่งความเร็วได้ จึงต้องมีการทดสอบหาระดับพลังงานในการเร่งอนุภาคทั้งอะตอมที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดลำรังสีแกมมาที่มีความเสถียรเป็นเวลานานมากเพียงพอต่อการใช้งาน
        รังสีแกมมาพลังงานสูงสามารถให้กำเนิดอนุภาคชนิดต่าง ๆ ทั้งที่เป็นสสารชนิดปกติทั่วไปเช่น ควาร์ก อิเล็กตรอน และอนุภาคมิวออน รวมทั้งสสารที่มีมวลมากซึ่งสามารถเปลี่ยนรูปต่อไปเป็นสสารหายากเช่นสสารมืดได้
ที่มา: bbc

ตรวจสอบแล้ว! สารเคมี ใน ซ.พหลฯ24 เป็น อีลีเดียม 192

ด่วน!! สารเคมีรั่วไหล ย่านพหลโยธิน 24 ขณะที่เจ้าหน้าที่ปรมณูเพื่อสันติเร่งตรวจสอบ – สั่งอพยพคน
         เมื่อเวลาประมาณ 15.20 น. ที่ผ่านมา เพจ FM. 91 Trafficpro ได้รายงานว่าเกิดเหตุสารเคมีรั่วไหลในโกดังสินค้าแห่งซ.พหลฯ 24 เบื้องต้นเจ้าหน้าที่จากสำนักงานปรมณูเพื่อสันติ เข้าตรวจสอบแล้ว พร้อมสั่งเร่งอพยพคนออกจากพื้นที่ และประกาศให้ประชาชนที่อยู่บริเวณดังกล่าว ปิดประตูและหน้าต่างเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น
       
  เบื้องต้นคาดว่า เป็น สารกัมมันตรังสีโคบอลต์ 60 ซึ่งเป็นสารอันตราย ที่ใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ที่ถูกรังสีนี้จะให้เกิดเม็ดเลือดขาวต่ำ มีอาการอ่อนเพลีย มือไหม้พอง และสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งบางคนมีอาการตื่นกลัวไม่ยอมรักษาโดยวิธีฉายรังสีจากโคบอลท์-60 หรือสารรังสีหรือแร่โคบอลท์-60 ประกอบด้วย รังสีแกมม่าและรังสีเบต้าและรังสีที่ใช้เป็นตัวรักษาเป็นอันตราย
คือ รังสีแกมมา มีแรงทะลุทลวงมากกว่า รังสีเบต้ามากโคบอลท์-60 เป็นสารรังสีที่ใช้ในทางการแพทย์ในไทย ตั้งแต่ พ.ศ.2501 โดยปัจจุบันใช้เป็นต้นกำเนิดรังสีแกมม่า สำหรับรักษาโรคมะเร็ง โดยอาศัยคุณสมบัติของรังสีที่สามารถทำลายเซลล์มะเร็ง ทำให้ผู้ป่วยหายจากโรคมะเร็งได้ และปัจจุบันนี้ก็มีผู้ป่วยมะเร็งชาวไทยจำนวนมากมายที่รอดชีวิตจากโรคมะเร็งเกิน 10-30 ปี
ที่มา : mthai

ด่วน! โรงไฟฟ้าแม่เมาะ “สารเคมีรั่วไหล! ขณะทดสอบระบบ อพยพคนออกตามแผนฉุกเฉิน

        วันที่ 6 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดทั้งวันที่ผ่านมามีกระแสข่าวออกมาว่า ที่บริเวณสถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนที่4-7  ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ติดกับโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 13 ภายในบริเวณโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เกิดสารพิษชนิดรุรแรงรั่วไหลออกมาคือ ก๊าซไฮโดรเจน ไซยาไนต์ ซึ่งเป็นยาพิษ ทำให้คนงานจำนวนมากที่เข้าไปทำงานภายในบริเวณดังกล่าวต้องรีบอพยพออกมาตามแผนอพยพฉุกฉิน โดยที่คนงานบางรายเกิดอาการแพ้นั้น
        ล่าสุดทาง ทาง กฟผ.แม่เมาะ ได้ออกมาเปิดเผยผ่านทางหน้าเฟซบุ๊กว่า เมื่อช่วงเช้าของวันนี้ (6 พฤษภาคม 2561) โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4-7 (MMRP1) พบเหตุกรดไฮโดรคลอริก (HCL) หรือกรดเกลือ รั่วไหลในการทดสอบระบบ ซึ่งในขณะนั้นไม่มีผู้ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานความปลอดภัยได้อพยพผู้เกี่ยวข้องออกจากพื้นที่ในระยะ 10 เมตร ตามแผนฉุกเฉิน โดยหน่วยงานความปลอดภัยได้เข้าระงับเหตุ จนกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว โดยไม่มีผู้บาดเจ็บ และไม่พบความสูญเสียแต่อย่างใดและในช่วงบ่าย ผู้เกี่ยวข้องจะสามารถเข้าปฏิบัติงานได้ตามปกติ ขณะนี้ กฟผ.แม่เมาะ ได้มีการชี้แจงต่อสื่อมวลชน พร้อมนำเข้าสำรวจพื้นที่ เพื่อเผยแพร่ข้อเท็จจริงแก่ประชาชนต่อไป
ที่มา:khaosod

วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2561

ชื่อของ 4 ธาตุใหม่

    IUPAC ประกาศชื่อ ธาตุใหม่ 4 ธาตุ ได้แก่ Nihonium (Nh), Moscovium (Mc), Tenessine (Ts) และ Oganesson (Og) ชื่อเหล่านี้ถูกเสนอให้เป็นชื่อสำหรับธาตุใหม่หมายเลข 113 115 117 และ 118 ตามลำดับ ธาตุ 4 ชนิดนี้เป็นธาตุหนัก ยิ่งยวด (superheavy element) ที่ไม่สามารถพบได้ตามธรรมชาติบนโลก ทั้งหมดเป็นธาตุที่สร้างขึ้นในห้องปฏิบัติการ

ชื่อของ 4 ธาตุใหม่

ตำแหน่งของชื่อธาตุใหม่ในตารางธาตุคาบที่ 7
ตำแหน่งของชื่อธาตุใหม่ในตารางธาตุคาบที่ 7
IUPAC หรือ International Union of Pure and Applied Chemistry ซึ่งเป็นองค์กรทางเคมีในระดับนานาชาติ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการตั้งชื่อธาตุ ธาตุที่ค้นพบใหม่จะสามารถตั้งชื่อตามชื่อของตัวละครในตำนาน เช่น ตำนานกรีก ตั้งตามชื่อของแร่ ชื่อสถานที่ สมบัติของธาตุ หรือจากชื่อนักวิทยาศาสตร์
ธาตุหมายเลข 113 ค้นพบในประเทศญี่ปุ่น จึงได้ชื่อว่า Nihonium เพื่อสื่อความหมายถึงประเทศที่ค้นพบ ธาตุ 113 ยังเป็นธาตุชนิดแรกที่ค้นพบในประเทศทางเอเชียอีกด้วย
ธาตุหมายเลข 115 ได้รับชื่อว่า Moscovium ตามชื่อของเมืองมอสโควในประเทศรัสเซีย และธาตุ 117 ได้ชื่อว่า Tennessine ตามชื่อของรัฐ Tennessee ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งของศูนย์วิจัยต่างๆ ที่ค้นพบธาตุเหล่านี้
ส่วนชื่อ Oganesson สำหรับธาตุ 118 มาจากชื่อของนักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซีย Yuri Oganessian ผู้บุกเบิกการสังเคราะห์ธาตุหนักต่างๆ
โดยทั่วไปคำลงท้ายเสียงของชื่อธาตุจะเป็น -ium  แต่ Tennesine และ Oganesson มีคำลงท้ายเสียง -ine และ -on ก็เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อธาตุอื่นๆ ในหมู่เดียวกัน (หมู่ 7A และ 8A ตามลำดับ)
ทั้งนี้ IUPAC จะสำรวจเป็นระยะเวลา 5 เดือนหลังจากนี้ คือ จนถึงเดือนพฤศจิกายน จากนั้นจะมีการประกาศยืนยันชื่อของธาตุอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

ธาตุใหม่สังเคราะห์ขึ้นได้อย่างไร

ชนิดของธาตุจะถูกกำหนดโดยจำนวนของโปรตอนที่อยู่ในนิวเคลียสของอะตอม นิวเคลียสที่มีจำนวนโปรตอนเท่ากันก็จะจัดเป็นธาตุชนิดเดียวกัน เช่น ธาตุไฮโดรเจนมี 1 โปรตอน ธาตุฮีเลียมมี 2 โปรตอน เป็นต้น นักวิทยาศาสตร์ใช้คำว่าเลขอะตอม (atomic number) เพื่อใช้บอกถึงจำนวนโปรตอนของธาตุนั้น
นักวิทยาศาสตร์สังเคราะห์ธาตุหนักที่ไม่สามารถพบตามธรรมชาติโดยให้อะตอมที่มีขนาดเล็ก 2 อะตอมมาชนกัน และให้อะตอมเหล่านั้นรวมตัวกันเป็นนิวเคลียสที่มีจำนวนโปรตอนเพิ่มขึ้น กลายเป็นธาตุใหม่ โดยต้องใช้ภาวะพลังงานสูง และเครื่องมือตรวจวัดที่มีความละเอียดมาก[/spoiler]

ตารางธาตุคาบที่ 7 ยังอาจไม่สิ้นสุด

แม้อาจดูเหมือนว่าตารางจะเป็นเพียงการเรียงลำดับของธาตุตามเลขอะตอม แต่ว่าแท้จริงแล้วตารางธาตุมีความสำคัญมากกว่านั้น เนื่องจากตารางธาตุสามารถแสดงแนวโน้มของสมบัติของธาตุได้ นักวิทยาศาสตร์สามารถใช้ตารางนี้ช่วยทำนายสมบัติของธาตุได้โดยอาศัยตำแหน่งในตาราง
การประกาศชื่อธาตุ 4 ธาตุใหม่นี้ ทำให้ตารางธาตุจะมีธาตุครบตั้งแต่เลขอะตอม 1 ไปจนถึงเลขอะตอม 118 ซึ่งทำให้ตารางธาตุคาบที่ 7 เต็มพอดี แม้ว่าธาตุหนักยิ่งยวดที่สังเคราะห์ขึ้นนี้ไม่เสถียร และจะสลายตัวภายในเวลาเพียงเสี้ยววินาที แต่การสังเคราะห์ธาตุชนิดใหม่ๆนั้นมีความสำคัญในทางทฤษฎี มีทฤษฎีทางฟิสิกส์กล่าวถึง เกาะแห่งเสถียรภาพ (island of stability) โดยทำนายว่าจะมีธาตุหนักยิ่งยวดในช่วงเลขอะตอม 120-126 ที่เสถียรมากกว่าธาตุหนักยิ่งยวดอื่นๆ นักวิจัยได้พยายามสังเคราะห์ธาตุมวลมากเหล่านี้เพื่อทดสอบทฤษฎีนี้ ดังนั้นถ้าหากในอนาคตมีการค้นพบธาตุใหม่เพิ่มขึ้นอีก เช่น ธาตุ 119 ตารางธาตุก็สามารถจะขยายต่อไปเป็นคาบที่ 8 ได้

ที่มา : soscity

กฤษฏา จ่อเปิดเวที4ภาคถกใช้3สารเคมีก่อนออกกฎคุม

                    เมื่อวันที่ 6 ก.ย.นายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าหลังจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติจำกัดการใช้สารเคมี...